พูดคุยกับเราได้ที่

0 2646 3555

รายการลดหย่อนภาษีปี 2567 สำหรับยื่นต้นปี 2568

รายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง รวมมาให้แล้ว
 
รายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง ยื่นได้ถึงวันไหน รวมมาให้แล้ว
 
 

เตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนลดหย่อนภาษี และยื่นแบบกันแล้วหรือยัง ? การยื่นภาษีนั้นมีความสำคัญมากกว่าที่ทุกคนคิด เนื่องจากการไม่ยื่นแบบภาษีจะต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ยิ่งถ้ากรมสรรพากรตรวจย้อนหลังแล้วพบเจอว่ารายได้ถึงเกณฑ์แต่หลีกเลี่ยงการเสียภาษี โทษจะยิ่งสูงขึ้นด้วย

รู้อย่างนี้แล้วทุกคนจึงควรยื่นแบบภาษี เพราะนอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น แถมยังช่วยให้คุณวางแผนภาษี เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าเดิม จากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ซึ่งจะมีสิทธิลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง และมีวิธีการยื่นแบบอย่างไร เราเตรียมคำตอบสำหรับมือใหม่ที่หัดยื่นภาษีครั้งแรก ไว้แล้วในบทความนี้!
 

การวางแผนภาษีสำคัญอย่างไร

การวางแผนภาษีนอกจากช่วยให้คุณเสียภาษีถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ยังมีประโยชน์สำคัญที่ควรทราบได้แก่


1. สามารถวางแผนการเงินได้รัดกุมและเป็นระบบมากขึ้น

ใครที่เป็นเจ้าของกิจการ หรือฟรีแลนซ์ คงทราบดีว่าระบบการยื่นภาษีของกรมสรรพากรมีทั้งแบบอัตราเหมา และหักค่าใช้จ่ายตามจริง ถ้าต้องการใช้สิทธิหักตามจริง ก็ต้องเตรียมเอกสารใบรับรอง ใบรับเงินต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการ จึงต้องวางแผนการเงินอย่างรัดกุม ไม่นำเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะการใช้จ่ายกับรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจ เช่น ซื้อแอลกอฮอล์ บุหรี่ ไม่อยู่ในรายการหักค่าใช้จ่ายตามจริง
 

2. ยิ่งวางแผนภาษีเร็ว ยิ่งประหยัดภาษีได้มาก

หากวางแผนภาษีเร็ว เพื่อน ๆ จะมีเวลาศึกษารายละเอียดของรายการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ว่ามีรายการอะไรบ้าง พร้อมเตรียมเอกสารประกอบการลดหย่อนภาษีได้ครบถ้วน ทำให้ได้เงินคืนจากการประหยัดภาษีมากยิ่งขึ้น


 

ระยะเวลาการยื่นภาษี 2567
ระยะเวลาการยื่นภาษี 2567

 

 

รายการลดหย่อนภาษี ปี 2567 สำหรับยื่น ปี 2568 มีอะไรบ้าง

หากคุณต้องการลดหย่อนภาษี แต่ไม่รู้ว่ามีรายการใดบ้างที่จะประหยัดภาษีได้มากขึ้นวันนี้เราได้รวบรวมเทคนิคลดหย่อนภาษี 2567 ดี ๆ ผ่านรายการลดหย่อนทั้ง 4 กลุ่มเอาไว้ให้แล้ว ซึ่งได้แก่

  • ค่าลดหย่อนค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
  • ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
  • ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
  • ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ


 

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
 
 

 

1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว

เป็นสิทธิลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐานที่ทุกคนได้รับตามกฎหมาย ส่วนจะลดภาษีได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าสถานะว่าโสด สมรส หรือมีบุตรแล้ว ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

  • ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว
    ลดหย่อนได้ 60,000 บาท และสิทธินี้ชาวไทยทุกคนใช้ได้หมดไม่ว่าจะอยู่ในสถานะโสด, แต่งงานแบบจดทะเบียนสมรส หรือไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม
  • ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส
    ลดหย่อนได้ 60,000 บาท แต่หลายคนเข้าใจว่าแค่แต่งงานจะได้ลดหย่อนภาษีทันที60,000 บาท ไม่ใช่นะ เพราะต้องเป็นคู่สมรสที่ต้องจดทะเบียนสมรส และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ด้วย ถึงจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนนี้
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร
    ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ให้สิทธิภรรยาผู้มีเงินได้ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร ครอบครัวไหนมีลูกหลายคนได้เปรียบแน่นอน เพราะลดหย่อนภาษีได้ถึงคนละ 30,000 บาท หากเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
  • ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส
    หากใครต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป และพ่อแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30,000 ต่อคน และสิทธินี้ยังครอบคลุมไปถึงพ่อ-แม่ของคู่สมรสอีกด้วย หมายความว่าถ้าคุณดูแลพ่อแม่ตัวเอง+พ่อแม่แฟนด้วยแล้ว จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ
    หากต้องดูแลผู้พิการที่บ้านไม่ว่าจะเป็น พ่อ-แม่-บุตร สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่ผู้พิการหรือทุพพลภาพนั้นจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000บาท ด้วย และต้องมีหลักฐานว่าคุณเป็นผู้อุปการะจริง ๆ ผ่านใบรับรองแพทย์ หรือว่าบัตรประจำตัวคนพิการ


 

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
 


2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

สิทธิลดหย่อนภาษีกลุ่มดังกล่าว ผู้สนใจใช้สิทธิต้องซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือสมทบทุนในกองทุนที่รัฐกำหนด ดังรายละเอียดต่อไปนี้
 

  • เงินประกันสังคม
    สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ จะได้สิทธิลดหย่อนภาษี ก็ต่อเมื่อซื้อประกันที่มีแผนกรมธรรม์คุ้มครองระยะเวลาเกิน 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ซึ่งเบี้ยประกันชีวิตที่คุณได้จ่ายไป สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ
    ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ แล้วจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท ประโยคนี้เพื่อน ๆ อาจจะงงนิดนึง มาดูตัวอย่างนี้กัน

    นาย ข. ซื้อประกันชีวิตจากบริษัท A จ่ายค่าเบี้ย 75,000 บาทต่อปี,ซื้อประกันสุขภาพแผน B ค่าเบี้ย 12,000 บาทต่อปี และซื้อประกันสุขภาพแผน C จ่ายค่าเบี้ย 20,000 บาทต่อปี ซึ่งรวมกันแล้วจ่ายค่าเบี้ยเท่ากับ 107,000 บาทต่อปี แทนที่นาย ข. จะได้สิทธิลดภาษีเท่ากับ 107,000 บาท แต่ไม่ใช่นะ เพราะตามสิทธิลดหย่อนแล้ว จะลดภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท เท่านั้น
  • เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา
    ถ้าใครทำประกันให้พ่อแม่ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และบิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วย
  • เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)
    ผู้ที่สนใจทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือซื้อหุ้นกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
    กองทุนที่เน้นลงทุนในบริษัทที่เกาะเมกะเทรนด์ความยั่งยืน ESG ซึ่งสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท เป็นวงเงินแยกต่างหาก โดยไม่ต้องนับรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ซึ่งเกณฑ์การถือครองหน่วยลงทุน ต้องถือหน่วยลงทุนเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป (นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน)
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund)
    นอกจากกองทุน Thai ESG แล้ว กองทุน RMF ก็ให้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ                                                                                                                                                                                                                                       
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds)
    ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่มีข้อแม้ว่าเพื่อน ๆ ต้องถือหน่วยลงทุนของ SSF เกินกว่า 10 ปีขึ้นไปถึงจะใช้สิทธิลดภาษีได้ และกองทุน SSF สามารถนำค่าซื้อมาหักลดหย่อนภาษีได้ในปี 2563 - 2567 อย่างไรก็ดีหลังจากปี 2567 ต้องติดตามต่อไปว่าจะได้รับการขยายเวลาต่ออายุการใช้สิทธิลดหย่อนหรือไม่
     
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
    พนักงานบริษัทเอกชน หรือครูเอกชนที่ได้ทำกองทุนดังกล่าวเอาไว้ นอกจากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของประกันสังคมได้แล้ว ยังใช้สิทธิลดภาษีจากกองทุน PVD หรือกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชนได้ด้วย ซึ่งลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ
     
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.)
    ใครเป็นข้าราชการต้องจ่ายเงินกบข. เป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว อย่าลืมขอลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
    ฟรีแลนซ์ พ่อค้า-แม่ค้า ที่ไม่มีกองทุนเหมือนกับสาขาอาชีพอื่น ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เช่นกันผ่านการออมในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจะลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
    ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้พึงประเมิน ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท สามารถใช้สิทธิดังกล่าวควบคู่ไปกับเบี้ยประกันรูปแบบอื่น ๆ ได้ด้วย ทั้งนี้เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท


 

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค



3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค

การบริจาคเงินก็อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีเงินบริจาค 3 ประเภทที่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนภาษี
 

  • เงินบริจาคทั่วไป
    ใครเป็นสายมู บริจาคให้วัดวาอาราม หรือมูลนิธิอยู่เป็นประจำ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนกลุ่มอื่น ดังนั้นหลังบริจาคเสร็จแล้วให้ขอใบเสร็จไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการขอลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ
    จัดเป็นค่าลดหย่อนภาษีที่สูงกว่ากลุ่มอื่นเลยทีเดียว เพราะลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง
    ใครมีพรรคการเมืองในดวงใจ ก็อย่าลืมบริจาคให้ด้วยนะ เพราะให้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงถึง 10,000 บาท

 

ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ


4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

สำหรับกลุ่มนี้ต้องติดตามข่าวสารเศรษฐกิจสักหน่อยว่ารัฐบาลได้มีโครงการอะไรออกมากระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง และนอกจากโครงการรัฐแล้วใครที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน
 

  • Easy E-Recipt
    ใครเป็นสายช็อปปิ้งห้ามพลาดกับการเข้าร่วมโครงการนี้เด็ดขาด เพราะให้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุดถึง 50,000 บาทต่อคน แต่ไม่ใช่สินค้าทุกรายการนะที่จะเข้าโครงการนี้ ก่อนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจึงต้องตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมรายการเป็นอันดับแรก เมื่อซื้อเสร็จแล้วให้ขอใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบเสร็จจากร้านค้าที่ซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2567 เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันในการรับสิทธิหักค่าลดหย่อนภาษีที่จะเริ่มในช่วงต้นปี 2568
  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย
    ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว คอนโด ทาวน์เฮ้าส์ ฯลฯ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามค่าใช้จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท หมายความว่าถ้าทั้งปีจ่ายดอกเบี้ยไป 120,000 บาท ก็ลดได้แค่ 100,000 บาท นะ

 

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

เมื่อทราบแล้วว่าสิทธิลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง ให้เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

  • ใบเสร็จรับเงินในการซื้อกองทุน ประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์
  • หลักฐานการบริจาค
  • หนังสือรับรองดอกเบี้ยจากการกู้ยืมของทางธนาคาร


จะเห็นได้ว่าหากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ต้องเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะใช้เอกสารเยอะมาก ยิ่งใครมีรายได้สูง ยิ่งต้องวางแผนภาษีกันข้ามปีเลยทีเดียว

 

สถานที่สำหรับการยื่นภาษี

สามารถยื่นแบบภาษี เพื่อขอสิทธิลดหย่อนภาษีได้ 2 แห่ง ได้แก่

  • สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานในห้าง ในเขต อำเภอ ยื่นได้ทั้งหมด
  • เว็บไซต์ของกรมสรรพากร

หลังจากรู้จักกับสิทธิลดหย่อนภาษีทั้ง 4 ประเภทไปแล้วหวังว่าทุกคนคงได้รับความรู้เตรียมพร้อมยื่นแบบภาษี และวางแผนลดหย่อน เพื่อจะได้ประหยัดภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ และอย่าลืมว่าสิทธิลดหย่อนภาษี ไม่เหมือนกับการลดภาษีนะ

เพราะวิธีการคิดคำนวณภาษีเกิดจากรายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้ หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า “เงินได้สุทธิ” จากนั้นกรมสรรพากรก็จะนำเงินได้ในส่วนนี้ไปคิดภาษีด้วยอัตราภาษีต่อไป  หมายความว่ายิ่งมีรายการลดหย่อนเยอะเท่าไหร่ เงินได้ก็ยิ่งลดลง ทำให้เมื่อคำนวณด้วยอัตราภาษีแล้ว จะประหยัดภาษีได้พอสมควร

เมื่อรู้ดังนี้แล้วควรติดตามข่าวสารการลดหย่อนภาษีอยู่เป็นประจำ เพราะมีรายการลดหย่อนภาษีที่อัปเดตอยู่เสมอ และถ้าไม่รู้ขั้นตอนการลดหย่อนภาษี ว่าต้องทำอย่างไรดี เพียงแค่เดินไปที่สำนักงานกรมสรรพากรใกล้บ้านคุณได้เลย มีเจ้าหน้าที่พร้อมให้คำปรึกษาคุณแน่นอน

และหากใครที่สนใจบัตรเครดิตที่มีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม สามารถรองรับได้ทุกไลฟ์สไตล์ มีโปรโมชันบัตรเครดิตสุดคุ้มในร้านค้าและบริการ รวมถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ก็สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของบัตรเครดิต ธนาคารกรุงศรีได้ที่ https://www.krungsricard.com/th/Product

 

แหล่งที่มาข้อมูล



บัตรเครดิต กรุงศรี วีซ่า แพลทินัม