พูดคุยกับเราได้ที่

0 2646 3555

6 โรคร้ายที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ภัยเงียบจากฝุ่นที่อันตรายมากกว่าที่คุณคิด

6 โรคร้ายที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ภัยเงียบจากฝุ่นที่อันตรายมากกว่าที่คุณคิด
 
ใส่หน้ากากเพื่อป้องกันโรคที่จากฝุ่น pm2.5
 

พอเข้าช่วงหน้าหนาวทีไร หลายคนคงเริ่มสังเกตเห็นหมอกหนา ๆ สีเทาที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า จนอาจคิดว่าคือหมอกจากอากาศหนาว แต่บอกก่อนเลยนะ...ถ้าวันไหนหมอกที่คุณเห็นเป็นสีเทาไม่ใช่สีขาว นั่นคือฝุ่น pm 2.5 ฝุ่นขนาดเล็กที่ส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพของเราได้ แม้จะเป็นฝุ่นจิ๋วนิดเดียวก็ตาม

 

ที่ผ่านมาเราก็คงพอรู้สถานการณ์อากาศในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ที่พบค่าฝุ่น pm 2.5 เกินค่ามาตรฐาน นั่นเป็นเพราะว่าในกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งหัวเมืองใหญ่ มีตึกสูงปิดกั้นทางลมมากมาย ทำให้อากาศด้านบนหยุดนิ่ง อีกทั้งการก่อสร้างต่าง ๆ ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ฝุ่นพิษมากขึ้นอีกด้วย แถมฝุ่น pm 2.5 ยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากเป็นช่วงที่ความกดอากาศสูง อากาศนิ่งและแห้ง ทำให้ฝุ่นควันต่าง ๆ ไม่สามารถลอยขึ้นสูงได้ จึงอาจเกิดการสะสมฝุ่นจนเกินค่ามาตรฐานได้

 

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร? ทำไมเราถึงรุนแรงกว่าฝุ่นอื่น ๆ

ฝุ่น PM 2.5 หรือชื่อเต็ม Particulate Matter with diameter of less than 2.5-micron เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่จมูกมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผมมนุษย์ ในขณะที่จมูกของเรานั้นกรองฝุ่นได้แค่ขนาด 10 ไมครอนเท่านั้น จึงง่ายต่อการสูดดม ฝุ่น pm 2.5 เข้าสู่ปอด และแทรกซึมไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายได้

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากหลากหลายปัจจัย โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
 

1. แหล่งกำเนิดปฐมภูมิ

  • ยานพาหนะ และการคมนาคมขนส่ง
  • การเผาในที่โล่งแจ้ง
  • โรงงานอุตสาหกรรม
  • โรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง
  • ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง

 

2. แหล่งกำเนิดทุติยภูมิ

  • ปฏิกิริยาเคมีในอากาศที่มีสารเคมีกลุ่มซัลเฟอร์ หรือกลุ่มไนโตรเจนและแอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น
  • สารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย เช่น ปรอท ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็ง
 

ฝุ่น pm 2.5 มาจากยานพาหนะ และการคมนาคมขนส่ง



ที่สำคัญฝุ่น PM 2.5 ยังสามารถเป็นตัวกลางนำพาสารพิษอื่น ๆ เข้าสู่ปอดได้ เช่น สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก ซึ่งส่งผลร้ายต่อทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ และสมองได้อีกด้วย และเมื่อร่างกายของเราสะสมฝุ่น pm 2.5 มากขึ้น ระบบต่าง ๆ ก็จะเริ่มทำงานผิดปกติและส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วย ซึ่งระยะเวลาการแสดงอาการก็แตกต่างกันตามระดับภูมิคุ้มกันของแต่ละคนนั่นเอง


...ว่าแต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าเรากำลังเจอภัยร้ายจากฝุ่นที่เรามองไม่เห็นอยู่หรือเปล่า?

วันนี้เราขอพาทุกคนมาเช็กลิสต์อาการ “สัญญาณอันตรายจากฝุ่น PM2.5” จะมีอาการอะไรบ้างดูต่อข้างล่างนี้ได้เลย

 

เช็กลิสต์ ‘สัญญาณอันตราย’ จากอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5

  1. แสบจมูก มีน้ำมูก มีอาการไอจาม
  2. รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  3. เคืองตา ตาแดง เปลือกตาบวม มีน้ำตาไหล
  4. คันคอ ภูมิแพ้กำเริบ
  5. มีตุ่มผื่น นูนแดงกระจายบนผิวหนัง
  6. สมองมีพัฒนาการช้า สมาธิสั้น


และความน่ากลัวของเจ้าฝุ่น PM 2.5 นั่นก็คือ หากเราสูดดมเข้าไปนาน ๆ ฝุ่นเหล่านี้อาจสะสมและเพิ่มความเสี่ยงสู่โรคร้ายแรงอื่น ๆ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้


 

หนาวนี้ต้องระวัง! 6 โรคที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5


โรคที่เกิดจากฝุ่น pm 2.5 ทำให้ร่างกายและระบบอวัยว่ะภายในต่างๆ เสื่อมลง
 


มาดูกัน...เมื่อฝุ่น PM 2.5 แทรกซึมเข้าสู่ร่างกายและทำลายระบบอวัยว่ะต่าง ๆ จะทำให้เกิดโรคร้ายอะไรบ้าง

 

1. โรคระบบทางเดินหายใจ

เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็ก ทำให้สามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้ปอดเกิดอาการอักเสบ ระคายเคือง และส่งผลให้เกิดโรคหอบหืด รวมทั้งคนที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้วก็อาจมีอาการที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น และหากฝุ่น PM 2.5 สะสมอยู่ในระบบทางเดินหายใจและปอดเป็นเวลานาน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งปอดในอนาคตได้เช่นกัน

 

2. โรคเกี่ยวกับสมอง

หลายคนอาจไม่รู้ว่าฝุ่น PM 2.5 นั้น ส่งผลกับโรคสมองไม่แพ้โรคทางเดินหายใจเลยล่ะ เพราะเมื่อเราสูดฝุ่น pm 2.5 เข้าไป ฝุ่นจะกระตุ้นทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคอัลไซเมอร์ และอาจส่งผลให้เกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาตในผู้ใหญ่ได้ สำหรับเด็ก ฝุ่น PM 2.5 ยังส่งผลต่อพัฒนาการที่ช้าลงได้อีกด้วย

 

3. โรคถุงลมโป่งพอง

อย่างที่เรารู้กันว่าฝุ่น PM 2.5 นั้นส่งผลต่อปอดโดยตรงไม่ต่างจากการสูบบุหรี่เลย เนื่องจากฝุ่น pm 2.5 จะกระตุ้นให้ปอดเกิดการอักเสบ ปอดถูกทำลาย ทำให้ถุงลมนับร้อยในปอดแตกออกเหลือเป็นถุงเดียว พื้นที่การแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดลดน้อยลง เราจึงรู้สึกเหนื่อยง่าย และอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งปอดในอนาคตได้

 

4. โรคผิวหนัง

เนื่องจากฝุ่น pm 2.5 ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ มักมีสารประกอบของคาร์บอนที่สามารถผ่านเข้าไปยังเซลล์ผิวหนังได้ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดริ้วรอยผิวหมองคล้ำ จุดด่างดำ นำไปสู่โรคผิวหนังอักเสบและโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั่นเอง

 

5. โรคหัวใจและหลอดเลือด

ฝุ่น pm 2.5 ที่แทรกซึมเข้าไปในกระแสเลือดนั้น ส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นถึง 10% เลยทีเดียว รวมทั้งฝุ่น pm 2.5 ยังส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหลอดเลือดแข็ง ต้นเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้

 

6. โรคเยื่อบุตาอักเสบ

ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ที่มากับฝุ่น pm 2.5 ในอากาศ เมื่อละอองฝุ่น pm 2.5 เข้าสู่เยื่อบุตาจนเกิดการอักเสบ ระคายเคือง ตาแดง ตาแห้ง คันตา ซึ่งอาจหายได้เองภายใน 2 - 3 สัปดาห์ แต่ถ้าหากนานกว่าหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที

นอกจาก 6 โรคที่เกิดจากฝุ่น pm 2.5 ที่เราพูดถึงแล้ว ฝุ่น pm 2.5 ยังส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น


 

กลุ่มภูมิคุ้มกันน้อย เช่น เด็กเล็ก ต้องระวังเรื่องฝุ่น pm 2.5 เป็นพิเศษ
 


อย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่า อาการและความรุนแรงจากพิษฝุ่นของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นกับสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่ง กลุ่มเสี่ยงจากฝุ่น pm 2.5 ที่ต้องระวังพิษมากเป็นพิเศษ นั่นก็คือ
 

1. เด็ก

เนื่องจากเด็กเล็กจะมีภูมิคุ้นกันโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ อวัยวะต่าง ๆ กำลังพัฒนา ทำให้ร่างกายขับฝุ่น pm 2.5 เหล่านี้ได้ยาก และไปขัดขวางการเจริญเติบโตของระบบต่าง ๆ อวัยวะทำงานได้ไม่เต็มที่

 

2. หญิงมีครรภ์

นอกจากจะส่งผลต่อแม่แล้ว ฝุ่น pm 2.5 ยังส่งผลร้ายต่อทารกในครรภ์อีกด้วย เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและภาวะแท้งบุตร รวมทั้งเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์ได้

 

3. ผู้สูงอายุ

เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ของผู้สูงอายุเริ่มเสื่อม ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันน้อย จึงอาจมีแนวโน้มเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหอบหืดจากฝุ่น pm 2.5 มากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญฝุ่น pm 2.5 ให้มากที่สุด

 

4. ผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว

โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ ที่ฝุ่น pm 2.5 จะส่งผลกระทบโดยตรงและทำให้โรคกำเริบรุนแรงมากขึ้นจนอาจถึงกับชีวิต


 

HOW TO ดูแลตัวเอง ป้องกันภัยจากฝุ่น pm 2.5



เช็กค่าดัชนีฝุ่น pm 2.5 เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากฝุ่น

 

ในเมื่อปัจจุบันปัญหาฝุ่น pm 2.5 นั้นมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานเพื่อแก้ปัญหา แล้วเราทุกคนจะป้องกันภัยจากฝุ่นพิษจิ๋วนี้ได้ยังไง? วันนี้เรามีวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นมาฝากกัน ไม่ว่าจะเป็น
 

1. สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น pm 2.5 ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน

เช่น หน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยอื่น ๆ ที่ช่วยป้องกันฝุ่น pm 2.5 ตามมาตรฐาน และควรสวมใส่ให้ถูกต้อง แนบสนิทใบหน้าไม่เหลือช่องว่าง
 

2. สวมแว่นกันลม กันฝุ่น และเสื้อแขนยาว

เพื่อป้องกันการสัมผัสฝุ่น pm 2.5 ตามร่างกายและดวงตา ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังและโรคตาอื่น ๆ
 

3. เช็กดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index)

ควรเช็กทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศ และหากพบว่ามีค่าฝุ่น pm 2.5 ที่สูง หรืออากาศอยู่ในระดับรุนแรงเป็นผลเสียต่อสุขภาพ ก็ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้านจะดีกว่านะ
 

4. ล้างจมูกทุกวันอย่างถูกวิธี

หากมีความจำเป็นต้องออกไปเผชิญผลพิษฝุ่น pm 2.5 จากภายนอก เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วนอกจากการล้างมือให้สะอาด เราควรล้างจมูกเพื่อชำระสิ่งสกปรกในโพรงจมูก เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและการเกิดโรคต่าง ๆ ได้
 

5. ใช้เครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน

ทางที่ดีเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ควรมีแผ่นกรองอากาศ HEPA Filter เนื่องจากมีคุณสมบัติกรองอากาศที่มีความละเอียดสูงกว่าแผ่นกรองอากาศปกติ จึงสามารถสกัดกั้นสารก่อภูมิแพ้จากฝุ่น pm 2.5 ที่จะเข้ามาในบ้านได้
 

6. นอนหลับให้เพียงพอ

เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย นอกจากจะช่วยป้องกันโรคร้ายจากฝุ่น pm 2.5 ได้แล้ว ยังช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ ได้อีกด้วย
 

7. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

อาหารที่ดีจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันป้องกันฝุ่น pm 2.5 ของเราให้ดีขึ้นได้ รวมทั้งยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงและการพัฒนาของอวัยวะต่าง ๆ อีกด้วย
 

8. งดกิจกรรมกลางแจ้ง

หลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้ง การทำงานนอกสถานที่ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสและสูดดมเอาละอองฝุ่น pm 2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

9. งดสูบบุหรี่และกิจกรรมที่ทำให้เกิดควัน

เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจยิ่งกระตุ้นต่อโรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอด รวมทั้งยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดควันพิษหรือฝุ่น pm 2.5 ในอากาศมากขึ้นอีกด้วย

 

หากเกิดความผิดปกติกับร่างกายควรพบแพทย์โดยเร็ว

เช่น อาการแน่นหน้าอก โรคประจำตัวกำเริบ หรือมีอาการแพ้อื่น ๆ ร่วมด้วย ที่อาจเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต



เครื่องกรองอากาศเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้บ้านปลอดฝุ่น pm 2.5

 

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เพื่อน ๆ คงเริ่มเข้าใจถึงความน่ากลัวของเจ้าฝุ่น pm 2.5 กันแล้ว ถึงแม้จะมีขนาดเล็กแต่ส่งผลร้ายแรง แต่นอกจากการดูแลตัวเองแล้ว ทางที่ดีเราควรงดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการเพิ่มผลพิษในอากาศ เช่น การสูบบุหรี่ การเผา การใช้รถยนต์เชื้อเพลิง เป็นต้น เพื่อสร้างอากาศที่สะอาดสำหรับตัวเราในวันนี้และในอนาคต

แต่หากต้องเจ็บป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เราทุกคนไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือการทำ ประกันสุขภาพ และประกันโรคร้าย ตัวช่วยที่ทำให้เรามั่นใจได้ในทุก ๆ วัน ซึ่งเพื่อน ๆ ยังสามารถชำระเบี้ยประกันได้ง่าย ๆ สบายใจยิ่งขึ้น ด้วย “บัตรเครดิต กรุงศรีที่มีโปรโมชันแบ่งชำระเบี้ยประกัน 0% พร้อมรับเครดิตเงินคืน ตามเงื่อนไขที่กำหนด พร้อมรับสิทธิประโยชน์จากบัตรมากมาย อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungsricard.com/th/promotion/category/Insurance-FinancialService

ดูแลตัวเองจากภัยรอบตัวแล้ว ให้ “บัตรเครดิต กรุงศรี” ช่วยดูแลคุณในทุกกิจกรรมของชีวิตดีกว่านะ :)


แหล่งอ้างอิงข้อมูล



บัตรเครดิต กรุงศรี วีซ่า แพลทินัม