ESG คืออะไร ทำไม ESG ถึงสำคัญและได้รับความนิยม
ในช่วงของปีที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทรนด์ของธุรกิจที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการมุ่งเน้นไปที่การใส่ใจเกี่ยวกับโลก มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จเพียงอย่างเดียว ประกอบกับนโยบายระดับประเทศต่างๆที่กระตุ้นให้ธุรกิจส่วนใหญ่หันมาใส่ใจกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิดที่เรียกว่า ESG มากขึ้น
ซึ่งสำหรับนักลงทุนก็คงจะเคยเห็นธุรกิจแบบ ESG ผ่านตากันมาไม่มากก็น้อย แต่ธุรกิจแบบนี้คืออะไร และมีความสำคัญกับนักลงทุนอย่างไร วันนี้เราจะมาอธิบายแบบครบจบในบทความเดียว
ESG คืออะไร
ESG ย่อมาจาก Environment, Social และ Governance ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่นักลงทุนมักจะใช้ประกอบการพิจารณาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งความสำคัญของ 3 แนวคิดนี้ก็คือ
-
"E" Environmental (สิ่งแวดล้อม)
เป็นหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสิ่งแวดล้อม
-
"S" Social (สังคม)
เป็นหลักเกณฑ์ที่ชี้วัดว่าองค์กรจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับสังคมอย่างไร
-
"G" Governance (บรรษัทภิบาล)
เป็นหลักเกณฑ์ที่วัดว่าองค์กรมีการบริหารจัดการเรื่องความสัมพันธ์ในเชิงของการกำกับดูแลอย่างไร ซึ่งการบริหารจัดการนี้ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย
ซึ่ง ESG นี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าองค์กรมีความรับผิดชอบต่อโลกอย่างไรและมีแนวโน้มในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไรภายใต้แนวโน้มของการทำธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก
ส่วนอีกแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจและมีความสำคัญไม่แพ้ ESG ก็คือ SDGs หรือ Sustainable Development Goals ซึ่งหมายถึงเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกหลังปี 2015 ที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ
โดยเอกสารที่ประเทศสมาชิกทั้งหมดลงนามรับรองเป็นพันธสัญญานั้นเรียกว่า “Transforming Our World: the 2030 Agenda for Sustainable Development” หรือ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” โดยมีทั้งหมด 17 เป้าหมายและแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มคือ
- มิติด้านสังคม (People)
- มิติด้านเศรษฐกิจ (Prosperity)
- มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Planet)
- มิติด้านสันติภาพและสถาบัน (Peace)
- มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership)
ESG สำคัญต่อการดำเนินงานของบริษัทอย่างไร
จากรายงานความเสี่ยงประจำปี 2021 จาก World Economic Forum (WEF) นั้น ได้ระบุว่า สภาพอากาศและความล้มเหลวจากการจัดการด้านภูมิอากาศ ล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อวิกฤตในการดำรงชีวิตของมนุษย์ภายในสิบปีข้างหน้า
นอกจากนี้ยังมีปัญหาของการสิ้นสุด “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ที่เราคุ้นชินกัน แต่เข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกใหม่ที่ต้องรับมืออย่างทันท่วงที เพราะนั่นหมายความว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว
จนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นวิกฤตของการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตบนโลกรวมถึงมนุษย์ และนั่นทำให้ประชาชนและองค์กรส่วนใหญ่บนโลกนี้มองว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้และต้องปฏิบัติให้เร็วที่สุด
ดังนั้น ความสำคัญของ ESG ต่อการดำเนินงานของบริษัทหลักๆ ก็คือ ESG จะกลายมาเป็นกติกาใหม่ที่ทั้งโลกรับรู้ร่วมกันในการทำธุรกิจ เพราะในแนวโน้มที่โลก เศรษฐกิจ และองค์กรทางการเมืองมองเห็นความยั่งยืนเป็นเป้าหมายอันดับ 1 จะได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่เน้นผลกำไรเป็นหลัก
ซึ่งในปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่ง ได้หันมาให้การสนับสนุนแนวคิด ESG โดยมีนโยบายที่จะไม่สนับสนุนเงินลงทุนกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยไม่เน้นความยั่งยืนกับโลกอย่างเช่นสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้นธุรกิจที่ใช้หลัก ESG จึงได้เปรียบในเรื่องของเงินทุนอย่างชัดเจน
รู้จัก ESG Risks
ESG Risks คือ ความเสี่ยงขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในด้านของแนวคิด ESG ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย การดำเนินงาน หรือพันธกิจขององค์กรที่ขัดต่อแนวคิด ESG ทำให้ส่งผลกระทบต่อผลกำไร การแข่งขัน ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือขององค์กร ซึ่งความเสี่ยงด้าน ESG ถูกแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ๆ คือ
1. ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental)
เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรงไม่ว่าจะเป็นผลกระทบของการดำเนินงานของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อบริษัท เช่น
- น้ำสะอาดและสุขอนามัย (Clean water and Sanitation)
การเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคที่เพียงพอและได้มาตรฐานสำหรับกระบวนการการผลิต
- พลังงานสะอาดและราคาถูก (Affordable and Clean Energy)
การเข้าถึงหรือสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาช่วยในกระบวนการการผลิต เพื่อลดต้นทุนของบริษัท
- การบริโภคและผลิตอย่างรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production)
การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและรับผิดชอบ เพื่อให้สามารถดำเนินการธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
- แก้ปัญหาโลกร้อน (Climate Action)
นอกจากการแสวงหากำไรแล้ว บริษัทควรมีแผนรับมือเกี่ยวกับการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และการรับมือผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกด้วย
- ระบบนิเวศบนบก (Life on Land)
กระบวนการบริหารและการจัดการทรัพยากรเพื่อให้คงความหลากหลายทางชีวภาพได้
- ทรัพยากรทางทะเล (Life Below Water)
ต้องมีการสร้างความยั่งยืนของทะเลและไม่ดำเนินการใดๆที่ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตรวมทั้งระบบนิเวศใต้ทะเลถูกทำลาย
2. ความเสี่ยงด้านสังคม (Social)
เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมรวมถึงการดูแลความปลอดภัยทั้งบุคลากรของบริษัทไปจนถึงแหล่งชุมชนที่อยู่รอบด้าน เช่น
- ความยากจนต้องหมดไป (No Poverty)
ควรให้ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเปราะบาง
- สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being)
ระบบบริการสุขภาพควรทันสมัยและเข้าถึงได้
- การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education)
แหล่งเรียนรู้ควรครอบคลุมและเท่าเทียมสำหรับประชาชนทุกคน อีกทั้งยังควรส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long Learning)
- ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
ส่งเสริมโอกาสและบทบาทของเพศหญิงทั้งในองค์กรและนอกองค์กร
- ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities)
ยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นหลักเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเท่าเทียม
3. ความเสี่ยงด้านบรรษัทภิบาล (Governance)
เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี การดำเนินงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ต่อต้านการทุจริต เช่น
- การบริโภคและผลิตอย่างรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production)
ควรใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระบวนการการผลิตไม่ควรใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองจนเกินไป และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้สร้างการบริโภคที่ยั่งยืนได้
- สันติภาพ ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง (Peace, Justice and Strong Institutions)
การประกอบการควรส่งเสริมสังคมที่สงบสุขให้เกิดขึ้น
- ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals)
สำคัญที่สุดเพราะเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ถูกระดับควรคำนึงถึง ทั้งในระดับองค์กรและประเทศ
ประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับใช้แนวคิด ESG
เมื่อองค์กรปรับใช้แนวคิด ESG แล้วจะได้รับประโยชน์หรือไม่ และเพราะอะไรองค์กรควรคำนึงถึงแนวคิดนี้? หลักๆแล้ว ESG สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้ ดังนี้
1. เป็นตัวชี้วัดว่าองค์กรมีคุณภาพ
มีแนวทางปฏิบัติที่ดีเป็นมาตรฐานสากล เพราะลูกค้าและนักลงทุนในปัจจุบันมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นของ ESG
2. สามารถดึงดูดลูกค้าและนักลงทุนได้ทั่วโลก
องค์กรที่มีการรายงาน ESG อย่างชัดเจนและโปร่งใส เป็นองค์กรที่สามารถโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางหลายองค์กรในตลาด
เทรนด์ธุรกิจ ESG ที่ควรจับตามองในปัจจุบันคืออะไร ?
แม้ว่าในปัจจุบันนี้ แนวทาง ESG จะเป็นแนวทางที่ทุกกลุ่มธุรกิจผ่านการให้ความสำคัญและพยายามปรับใช้กับธุรกิจของตน ซึ่งเทรนธุรกิจ ESG มีแนวโน้มที่ต่อเติบโตมากขึ้นในปีถัดไป และนักลงทุนควรจับตามองได้แก่
1. ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ (Healthcare Business)
อย่างเช่นบริการทางสุขภาพที่ช่วยกระจายการเข้าถึงด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้กับกลุ่มเปราะบาง เพิ่มความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่
2. การลงทุนในกลุ่มพลังงานใหม่ (New Energy)
อย่างเช่น พลังงานสะอาด (Clean Energy) หรือกลุ่มธุรกิจที่ช่วยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถลดโลกร้อนได้ หรือแม้แต่กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
มาถึงตอนนี้คงสามารถพูดได้เลยว่าแนวคิด ESG ไม่ใช่แค่เทรนด์หรือกระแสของธุรกิจที่ผ่านมาแล้วผ่านไปอย่างที่หลายคนคิดกันเท่านั้น แต่กลับเป็น Mega Trend ในระดับของโลก ที่เน้นการสร้างความยั่งยืน และความเท่าเทียมของภาคธุรกิจต่อโลกใบนี้ที่เปรียบเสมือนกับบ้านของเรา
แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจก็ยังคงได้รับความท้าทายกับการปรับตัวเข้าสู่แนวคิด ESG ทั้งในเรื่องของต้นทุน และความพร้อมของธุรกิจขนาดเล็ก ที่ยังต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเข้าถึงแนวคิดของ ESG
ซึ่งก็คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าในอนาคตนี้ธุรกิจส่วนใหญ่จะปรับตัวเข้าสู่ความยั่งยืนอย่างไร เพื่อให้สุดท้ายแล้วธุรกิจสามารถแสวงหากำไรได้ต่อไป และส่งผลกระทบที่ดีให้กับโลกใบนี้อย่างยั่งยืน
คุณไม่เพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเท่านั้น แต่คุณยังสามารถสัมผัสประสบการณ์ทางการเงินที่ไม่เหมือนใครด้วยบัตรเครดิตกรุงศรี! มาพร้อมกับสิทธิพิเศษและโปรโมชั่นช็อปช่วยโลกให้คุณเพลิดเพลินไปกับการใช้บัตรเครดิตช่วยโลกได้อีกด้วย ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของบัตรเครดิต และโปรโมชั่นจากธนาคารกรุงศรีได้ที่ บัตรเครดิตกรุงศรี / รวมโปรโมชั่นช็อปช่วยโลก
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่กำหนด