พูดคุยกับเราได้ที่

0 2646 3555

ESG คืออะไร ทำไม ESG ถึงสำคัญและได้รับความนิยม

ESG คืออะไร ทำไม ESG ถึงสำคัญและได้รับความนิยม
 
ESG คืออะไร ทำไม ESG ถึงนิยมในกลุ่มนักลงทุน
 
 

ในช่วงของปีที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทรนด์ของธุรกิจที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการมุ่งเน้นไปที่การใส่ใจเกี่ยวกับโลก มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จเพียงอย่างเดียว ประกอบกับนโยบายระดับประเทศต่างๆที่กระตุ้นให้ธุรกิจส่วนใหญ่หันมาใส่ใจกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิดที่เรียกว่า ESG มากขึ้น   
    
ซึ่งสำหรับนักลงทุนก็คงจะเคยเห็นธุรกิจแบบ ESG ผ่านตากันมาไม่มากก็น้อย แต่ธุรกิจแบบนี้คืออะไร และมีความสำคัญกับนักลงทุนอย่างไร วันนี้เราจะมาอธิบายแบบครบจบในบทความเดียว
 

ESG คืออะไร

ESG ย่อมาจาก Environment, Social และ Governance  ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่นักลงทุนมักจะใช้ประกอบการพิจารณาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งความสำคัญของ 3 แนวคิดนี้ก็คือ

  • "E" Environmental (สิ่งแวดล้อม)

     เป็นหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสิ่งแวดล้อม
     
  • "S" Social (สังคม)

    เป็นหลักเกณฑ์ที่ชี้วัดว่าองค์กรจัดการความสัมพันธ์และสื่อสารกับสังคมอย่างไร
     
  • "G" Governance (บรรษัทภิบาล)

    เป็นหลักเกณฑ์ที่วัดว่าองค์กรมีการบริหารจัดการเรื่องความสัมพันธ์ในเชิงของการกำกับดูแลอย่างไร ซึ่งการบริหารจัดการนี้ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย


ซึ่ง ESG นี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าองค์กรมีความรับผิดชอบต่อโลกอย่างไรและมีแนวโน้มในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไรภายใต้แนวโน้มของการทำธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก

ส่วนอีกแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจและมีความสำคัญไม่แพ้ ESG ก็คือ SDGs หรือ Sustainable Development Goals  ซึ่งหมายถึงเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกหลังปี 2015 ที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ

โดยเอกสารที่ประเทศสมาชิกทั้งหมดลงนามรับรองเป็นพันธสัญญานั้นเรียกว่า “Transforming Our World: the 2030 Agenda for Sustainable Development” หรือ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” โดยมีทั้งหมด 17 เป้าหมายและแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มคือ

  1. มิติด้านสังคม (People)
  2. มิติด้านเศรษฐกิจ (Prosperity)
  3. มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Planet)
  4. มิติด้านสันติภาพและสถาบัน (Peace)
  5. มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership)

 

ESGมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจในปัจจุบัน
ESGมีความสำคัญต่อการทำธุรกิจในปัจจุบัน

 

ESG สำคัญต่อการดำเนินงานของบริษัทอย่างไร

จากรายงานความเสี่ยงประจำปี 2021 จาก World Economic Forum (WEF) นั้น ได้ระบุว่า สภาพอากาศและความล้มเหลวจากการจัดการด้านภูมิอากาศ ล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อวิกฤตในการดำรงชีวิตของมนุษย์ภายในสิบปีข้างหน้า

นอกจากนี้ยังมีปัญหาของการสิ้นสุด “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ที่เราคุ้นชินกัน แต่เข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกใหม่ที่ต้องรับมืออย่างทันท่วงที เพราะนั่นหมายความว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว

จนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นวิกฤตของการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตบนโลกรวมถึงมนุษย์ และนั่นทำให้ประชาชนและองค์กรส่วนใหญ่บนโลกนี้มองว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้และต้องปฏิบัติให้เร็วที่สุด

ดังนั้น ความสำคัญของ ESG ต่อการดำเนินงานของบริษัทหลักๆ ก็คือ ESG จะกลายมาเป็นกติกาใหม่ที่ทั้งโลกรับรู้ร่วมกันในการทำธุรกิจ เพราะในแนวโน้มที่โลก  เศรษฐกิจ และองค์กรทางการเมืองมองเห็นความยั่งยืนเป็นเป้าหมายอันดับ 1 จะได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่เน้นผลกำไรเป็นหลัก

ซึ่งในปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่ง ได้หันมาให้การสนับสนุนแนวคิด ESG โดยมีนโยบายที่จะไม่สนับสนุนเงินลงทุนกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยไม่เน้นความยั่งยืนกับโลกอย่างเช่นสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้นธุรกิจที่ใช้หลัก ESG จึงได้เปรียบในเรื่องของเงินทุนอย่างชัดเจน

 

ESG Risks ด้านสิ่งแวดล้อม
ESG Risks ด้านสิ่งแวดล้อม

 

รู้จัก ESG Risks

ESG Risks คือ ความเสี่ยงขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในด้านของแนวคิด ESG ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย การดำเนินงาน หรือพันธกิจขององค์กรที่ขัดต่อแนวคิด ESG ทำให้ส่งผลกระทบต่อผลกำไร การแข่งขัน ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือขององค์กร ซึ่งความเสี่ยงด้าน ESG ถูกแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ๆ คือ
 

1. ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental)

เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรงไม่ว่าจะเป็นผลกระทบของการดำเนินงานของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อบริษัท เช่น

  • น้ำสะอาดและสุขอนามัย (Clean water and Sanitation)
    การเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคที่เพียงพอและได้มาตรฐานสำหรับกระบวนการการผลิต
  • พลังงานสะอาดและราคาถูก (Affordable and Clean Energy)
    การเข้าถึงหรือสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาช่วยในกระบวนการการผลิต เพื่อลดต้นทุนของบริษัท
  • การบริโภคและผลิตอย่างรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production)
    การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและรับผิดชอบ เพื่อให้สามารถดำเนินการธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
  • แก้ปัญหาโลกร้อน (Climate Action)
    นอกจากการแสวงหากำไรแล้ว บริษัทควรมีแผนรับมือเกี่ยวกับการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และการรับมือผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกด้วย
  • ระบบนิเวศบนบก (Life on Land)
    กระบวนการบริหารและการจัดการทรัพยากรเพื่อให้คงความหลากหลายทางชีวภาพได้
  • ทรัพยากรทางทะเล (Life Below Water)
    ต้องมีการสร้างความยั่งยืนของทะเลและไม่ดำเนินการใดๆที่ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตรวมทั้งระบบนิเวศใต้ทะเลถูกทำลาย

 

ESG Risks ด้านสังคม
ESG Risks ด้านสังคม

 

2. ความเสี่ยงด้านสังคม (Social)

เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมรวมถึงการดูแลความปลอดภัยทั้งบุคลากรของบริษัทไปจนถึงแหล่งชุมชนที่อยู่รอบด้าน เช่น

  • ความยากจนต้องหมดไป (No Poverty)
    ควรให้ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเปราะบาง
  • สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being)
    ระบบบริการสุขภาพควรทันสมัยและเข้าถึงได้
  • การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education)
    แหล่งเรียนรู้ควรครอบคลุมและเท่าเทียมสำหรับประชาชนทุกคน อีกทั้งยังควรส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long Learning)
  • ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
    ส่งเสริมโอกาสและบทบาทของเพศหญิงทั้งในองค์กรและนอกองค์กร
  • ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities)
    ยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นหลักเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเท่าเทียม

 

ESG Risks ด้านบรรษัทภิบาล
ESG Risks ด้านบรรษัทภิบาล

 

3. ความเสี่ยงด้านบรรษัทภิบาล (Governance)

เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี การดำเนินงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ต่อต้านการทุจริต เช่น

  • การบริโภคและผลิตอย่างรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production)
    ควรใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระบวนการการผลิตไม่ควรใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองจนเกินไป และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้สร้างการบริโภคที่ยั่งยืนได้
  • สันติภาพ ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง (Peace, Justice and Strong Institutions)
    การประกอบการควรส่งเสริมสังคมที่สงบสุขให้เกิดขึ้น
  • ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals)
    สำคัญที่สุดเพราะเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ถูกระดับควรคำนึงถึง ทั้งในระดับองค์กรและประเทศ

 

แนวคิด ESG จัดเป็นตัวชี้วัดว่าองค์กรมีคุณภาพ
แนวคิด ESG จัดเป็นตัวชี้วัดว่าองค์กรมีคุณภาพ

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับใช้แนวคิด ESG

เมื่อองค์กรปรับใช้แนวคิด ESG แล้วจะได้รับประโยชน์หรือไม่ และเพราะอะไรองค์กรควรคำนึงถึงแนวคิดนี้? หลักๆแล้ว ESG สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้ ดังนี้
 

1. เป็นตัวชี้วัดว่าองค์กรมีคุณภาพ 

มีแนวทางปฏิบัติที่ดีเป็นมาตรฐานสากล เพราะลูกค้าและนักลงทุนในปัจจุบันมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นของ ESG
 

2. สามารถดึงดูดลูกค้าและนักลงทุนได้ทั่วโลก

องค์กรที่มีการรายงาน ESG  อย่างชัดเจนและโปร่งใส เป็นองค์กรที่สามารถโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางหลายองค์กรในตลาด

 

ธุรกิจ ESG มีแนวโน้มที่ต่อเติบโตในอนาคต
ธุรกิจ ESG มีแนวโน้มที่ต่อเติบโตในอนาคต

 

เทรนด์ธุรกิจ ESG ที่ควรจับตามองในปัจจุบันคืออะไร ?  

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ แนวทาง ESG จะเป็นแนวทางที่ทุกกลุ่มธุรกิจผ่านการให้ความสำคัญและพยายามปรับใช้กับธุรกิจของตน ซึ่งเทรนธุรกิจ ESG มีแนวโน้มที่ต่อเติบโตมากขึ้นในปีถัดไป และนักลงทุนควรจับตามองได้แก่
 

1. ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ (Healthcare Business) 

อย่างเช่นบริการทางสุขภาพที่ช่วยกระจายการเข้าถึงด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้กับกลุ่มเปราะบาง เพิ่มความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่
 

2. การลงทุนในกลุ่มพลังงานใหม่ (New Energy)

อย่างเช่น พลังงานสะอาด (Clean Energy) หรือกลุ่มธุรกิจที่ช่วยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถลดโลกร้อนได้ หรือแม้แต่กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 

 

ESG เน้นการสร้างความยั่งยืน และความเท่าเทียมของภาคธุรกิจ
ESG เน้นการสร้างความยั่งยืน และความเท่าเทียมของภาคธุรกิจ

 

มาถึงตอนนี้คงสามารถพูดได้เลยว่าแนวคิด ESG ไม่ใช่แค่เทรนด์หรือกระแสของธุรกิจที่ผ่านมาแล้วผ่านไปอย่างที่หลายคนคิดกันเท่านั้น แต่กลับเป็น Mega Trend ในระดับของโลก ที่เน้นการสร้างความยั่งยืน และความเท่าเทียมของภาคธุรกิจต่อโลกใบนี้ที่เปรียบเสมือนกับบ้านของเรา       

แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจก็ยังคงได้รับความท้าทายกับการปรับตัวเข้าสู่แนวคิด ESG ทั้งในเรื่องของต้นทุน และความพร้อมของธุรกิจขนาดเล็ก ที่ยังต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเข้าถึงแนวคิดของ ESG

ซึ่งก็คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าในอนาคตนี้ธุรกิจส่วนใหญ่จะปรับตัวเข้าสู่ความยั่งยืนอย่างไร เพื่อให้สุดท้ายแล้วธุรกิจสามารถแสวงหากำไรได้ต่อไป และส่งผลกระทบที่ดีให้กับโลกใบนี้อย่างยั่งยืน

คุณไม่เพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเท่านั้น แต่คุณยังสามารถสัมผัสประสบการณ์ทางการเงินที่ไม่เหมือนใครด้วยบัตรเครดิตกรุงศรี! มาพร้อมกับสิทธิพิเศษและโปรโมชั่นช็อปช่วยโลกให้คุณเพลิดเพลินไปกับการใช้บัตรเครดิตช่วยโลกได้อีกด้วย ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของบัตรเครดิต และโปรโมชั่นจากธนาคารกรุงศรีได้ที่ บัตรเครดิตกรุงศรี / รวมโปรโมชั่นช็อปช่วยโลก

*เงื่อนไขเป็นไปตามที่กำหนด



บัตรเครดิต กรุงศรี แพลทินัม