เทรนด์การลงทุนที่น่าจับตามอง และกำลังถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงเวลานี้ ก็คือคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือ ที่เรียกสั้นๆ ว่าคริปโตฯ จริงๆ แล้วไม่ใช่การลงทุนที่ใหม่มากนัก เพราะถือกำเนิดมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งหลายคนที่ไม่ได้ติดตามก็อาจจะคุ้นแค่ชื่อ แต่ยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคืออะไร มีความเกี่ยวข้องกับบล็อกเชนอย่างไร มีกี่ประเภท มีวิธีสร้างรายได้แบบไหนบ้าง รวมไปถึงภาษีคริปโตฯ ที่กำลังเป็นประเด็นน่าสนใจอยู่ในตอนนี้ เอาเป็นว่ามาดูข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่มือใหม่ควรรู้ ก่อนเข้าสู่วงการคริปโทเคอร์เรนซีกันเลย
คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คืออะไร
คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือสกุลเงินเข้ารหัส เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้ แตกต่างจากเงินของแต่ละประเทศที่เป็นธนบัตร หรือ เหรียญที่สามารถจับต้องได้ สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการ โดยมูลค่าจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจระหว่างผู้ใช้
บล็อกเชน เกี่ยวอะไรกับคริปโตฯ
บล็อกเชน (Blockchain) คือเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง โดยถูกเก็บอยู่ในแต่ละบล็อก (Block) เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ (Chain)
ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนจะคอยบันทึก และส่งข้อมูล เพื่อให้ทุกคนที่เข้าระบบสามารถเข้าถึง และตรวจสอบได้ จึงทำให้มีความโปร่งใส ปลอดภัยสูง ปลอมแปลงยาก เพราะทุกคนสามารถดูประวัติการทำธุรกรรมได้ หากต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องแก้ทุกสำเนาที่ทุกคนในระบบถืออยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
มาถึงคำถามที่ว่า แล้วบล็อกเชนเกี่ยวอะไรกับคริปโตฯ นั่นก็คือคริปโตฯ ทำงานอยู่บนบล็อกเชน ดังนั้นทุกการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น จะถูกบันทึกข้อมูลไว้ในระบบบล็อกเชนนั่นเอง
ความแตกต่างระหว่างคริปโตฯ Coin และ Token
Coin เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าในตัวเอง ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการต่างๆ มีเครือข่ายบล็อกเชนของตัวเอง
Token เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่มีเครือข่ายบล็อกเชนของตัวเอง สร้างขึ้นจากเครือข่ายบล็อกเชนอื่นผ่านสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการต่างๆ แต่จะมีคุณสมบัติการใช้งานในรูปแบบเฉพาะเจาะจง
สรุปสั้นๆ คือ Coin ถูกสร้างขึ้นบนเครือข่ายบล็อกเชนของตัวเอง ใช้แลกเปลี่ยนสินค้า และบริการต่างๆ ส่วน Token สร้างขึ้นจากเครือข่ายบล็อกเชนอื่น สามารถใช้งานได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น
ทำความรู้จักกับคริปโตฯ 7 กลุ่มหลัก
คริปโตฯ นั้นมีมากมายหลายกลุ่ม เรามาดูตัวอย่าง 7 กลุ่มหลัก เพื่อความเข้าใจมากขึ้นกันเลย
1. คริปโตฯ แบบรักษามูลค่า (Store of Value)
เป็นเหรียญที่มีจำนวนจำกัด ไม่มีการเพิ่มจำนวนอีก มีจำนวนเท่าไร ก็จะบันทึกไว้เท่านั้นเหรียญในกลุ่มนี้ เช่น Bitcoin (BTC), Litecoin (LTC), Bitcoin Cash (BCH)
2. คริปโตฯ สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)
เป็นสัญญาอัจฉริยะแบบอัตโนมัติที่อยู่บนระบบบล็อกเชน ทำหน้าที่จัดเก็บเงื่อนไขสัญญา ซึ่งเมื่อมีการดำเนินการที่ตรงตามเงื่อนไข ก็จะมีการดำเนินการตามที่ได้ระบุไว้ ตัวอย่างคริปโตฯ ที่สนับสนุนการทำงานของ Smart Contract เช่น Ethereum (ETH), Cardano (ADA), Polkadot (DOT)
3. คริปโตฯ เพื่อระบบการเงินแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi)
เป็นบริการทางการเงินที่อยู่ในระบบบล็อกเชน โดยใช้ Smart Contract มารองรับ ไม่ใช้ตัวกลาง โดยแต่ละเหรียญจะมีวัตถุประสงค์ การใช้งาน และจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป เหรียญในกลุ่มนี้ เช่น Uniswap (UNI), Maker (MKR), AAVE
4. คริปโตฯ แบบส่งต่อมูลค่า (Value Transfer)
เป็นเหรียญที่ออกแบบพัฒนาขึ้น เพื่อส่งต่อมูลค่าผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยระบบบล็อกเชน ซึ่งมีค่าธรรมเนียมถูก ตัวอย่างเช่น หากต้องการโยกย้ายเหรียญที่มีอยู่ไปต่างประเทศ ก็สามารถแปลงเหรียญเป็น Value Transfer ทำให้ค่าธรรมเนียมถูกลงและรวดเร็วขึ้น เหรียญในกลุ่มนี้ เช่น Ripple (XRP), Stellar (XLM)
5. คริปโตฯ ประเภท Oracle
เป็นโปรแกรมจัดการฐานข้อมูล ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างข้อมูลภายนอกบล็อกเชน (Off-chain) กับข้อมูลภายในบล็อกเชน (On-chain) เพื่อให้สามารถนำข้อมูลต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ ราคาสินทรัพย์ ผลโหวต ผลการแข่งขัน เหรียญในกลุ่มนี้ เช่น Chainlink (LINK), Band Protocol (BAND)
6. คริปโตฯ ประเภท Stablecoin
เป็นเหรียญที่ตรึงมูลค่าเข้ากับสกุลเงินหลักของโลก (ดอลลาร์ ยูโร) หรือสินค้าโภคภัณฑ์หนุนหลัง (ทองคำ น้ำมัน ที่ดิน) ในอัตรา 1:1 จึงนิยมนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน เช่น หากอยากจะเข้ามาเทรด ก็จะต้องใช้เงินจริงซื้อคริปโตฯ ประเภท Stablecoin ในอัตรา 1:1 แล้วจึงนำไปซื้อคริปโตฯ อื่นๆ ต่อไปได้ เหรียญในกลุ่มนี้ เช่น USDT, USDC, DAI
7. เหรียญมีม (Meme Coin)
เป็นเหรียญที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Meme ต่างๆ ที่เป็นที่นิยม ออกแบบมาเพื่อล้อเลียนและความสนุกสนานเท่านั้น ไม่ได้มีแพลนหรือโปรเจกต์รองรับ จึงมักเป็นที่นิยมในระยะเวลาสั้นๆ และมีความผันผวนสูง
วิธีสร้างรายได้จากคริปโตฯ
การสร้างรายได้จากคริปโตฯ นั้นมีมากมายหลายวิธี เรามาดูตัวอย่าง 5 วิธี เพื่อเป็นแนวทางกันเลย
1. ลงทุนระยะยาว
เป็นกลยุทธ์ทำกำไรในระยะยาว ซื้อมาในราคาที่ถูก จากนั้นถือครองจนกว่าจะมีมูลค่าที่พอใจ แล้วจึงขายเพื่อทำกำไร โดยไม่ต้องมานั่งดูกราฟบ่อยๆ ซึ่งต้องมั่นใจว่ามูลค่าของคริปโตฯ ที่เลือกลงทุนจะเติบโตขึ้นในอนาคต ส่วนกำไรจะมากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน
2. เทรด
เป็นกลยุทธ์ทำกำไรในระยะสั้น เนื่องจากมูลค่าคริปโตฯ มีความผันผวนหนัก การเทรดโดยซื้อมาขายไปในระยะเวลาสั้นๆ จึงทำให้มีกำไรน้อย แต่เน้นไปที่การมีผลกําไรเล็กๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องอาศัยประสบการณ์ ทักษะการคิดวิเคราะห์ และการติดตามข่าวสารเป็นประจำ จึงจะทำให้มีโอกาสคาดการณ์ได้แม่นยำมากขึ้น
3. ขุด
เป็นกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของคริปโตฯ โดยใช้ระบบตรวจสอบ Proof of Work (PoW) แก้โจทย์ที่ระบบกำหนดมาเพื่อหาค่าสมการที่ถูกต้อง หากสามารถทำสำเร็จเป็นคนแรกในเครือข่าย ก็จะมีสิทธิ์เพิ่มข้อมูลธุรกรรมชุดใหม่ลงไปในเครือข่าย และจะได้รับรางวัลเป็นเหรียญใหม่ที่ยังไม่มีในระบบเป็นค่าตอบแทน
4. Stakink
เป็นกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของคริปโตฯ โดยใช้ระบบตรวจสอบ Proof of Stake (PoS) วางสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือ Stake เหรียญไว้ในระบบ เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการตรวจสอบ และยืนยันธุรกรรม โดยจะได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญ หรือ ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมบนบล็อกนั้น ตามเงื่อนไขของแต่ละแพลตฟอร์ม
ศัพท์คริปโตฯ ที่มือใหม่ควรรู้
คำศัพท์คริปโตฯ นั้นมีมากมายหลากหลาย มาดูความหมายของคำศัพท์พื้นฐาน เพื่อทำความเข้าใจกันเลย
คำศัพท์ |
ความหมาย |
Altcoin |
สกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ที่ไม่ใช่บิทคอยน์ |
Fiat Money |
เงินที่ใช้กันทั่วไป โดยมีรัฐบาลของแต่ละประเทศรับรอง |
Fish |
นักลงทุนรายย่อย ที่มีมูลค่าการซื้อขายไม่มาก |
FOMO |
ความกลัวที่จะพลาดโอกาสสำคัญในการทำกำไร |
Fork |
การแตกตัวของ Blockchain ที่เกิดจากการพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ขององค์กรเดิม |
HODL |
การลงทุนในระยะยาว โดยไม่สนว่าราคาจะขึ้นหรือลง |
Mining |
ถอดรหัส (ขุด) ได้สำเร็จ |
Moon |
มูลค่าของเหรียญคริปโตฯ ที่พุ่งสูงขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ |
Whale |
นักลงทุนรายใหญ่ ที่ถือเหรียญไว้จำนวนมาก การซื้อขายแต่ละครั้งส่งผลกระทบครั้งใหญ่ในตลาด |
Yield Farming |
การเปิดให้คนในระบบหยิบยืมเหรียญ โดยรับผลตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียม หรือ ดอกเบี้ย |
เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ ภาษีคริปโตฯ
สิ่งสำคัญที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้เกี่ยวกับการลงทุนในคริปโตฯ คือการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ ซึ่งรายได้ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีคริปโตฯ มีดังนี้
1. การจำหน่าย จ่าย โอน หรือ แลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล
2. การขุดคริปโทเคอร์เรนซี
3. การได้รับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือน หรือ ค่าจ้าง
4. การได้รับคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล จากการให้ หรือ ได้รับเป็นรางวัล
5. ได้รับผลประโยชน์ หรือ ผลตอบแทนจากการถือครอง ทั้งจากคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล
ปัจจุบันกรมสรรพากรได้อัปเดตแนวปฏิบัติการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ ดังนี้
1. ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เนื่องจากปัจจุบันการซื้อขายคริปโตฯ ผ่าน Exchange Platform ยังไม่สามารถระบุตัวตนของผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก จึงเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบความถูกต้อง ทำให้ไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้
2. สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกำไรในปีภาษีเดียวกัน เพื่อใช้คิดเงินได้ในการคำนวณภาษี จากเดิมที่ให้คิดเฉพาะรายการที่ได้กำไร
3. วิธีการคำนวณภาษีคริปโตฯ สามารถทำได้ 2 วิธีคือ วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน (First in, First out: FIFO) และวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost)
4. การวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ให้วัด ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ย
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติเรื่องการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ข้อ 1) และการนำผลขาดทุนมาหักลบกำไร (ข้อ 2) จะมีผลเฉพาะการซื้อขายผ่าน Exchange Platform ที่อยู่ภายใต้การดูแลของก.ล.ต. เท่านั้น และยังคงต้องนำเงินได้จากคริปโตฯ มารวมกับเงินได้อื่นๆ เช่น เงินเดือน เงินจากธุรกิจ แล้วนำมาหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นๆ เพื่อยื่นภาษีประจำปี และจ่ายภาษีแบบขั้นบันได 5-35% โดยจะต้องยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 สำหรับปีภาษีที่มีเงินได้ดังกล่าว ภายในวันที่ 31 มี.ค. ของปีถัดไป
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่มือใหม่ควรรู้ ซึ่งในโลกคริปโตฯ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ใครที่สนใจอยากเริ่มลงทุน อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบ คิดวิเคราะห์ให้รอบด้าน ระมัดระวังในการลงทุนเข้าไว้ และหมั่นติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เพราะสุดท้ายแล้วทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ควรตัดสินใจให้ดีก่อนลงทุน
Reference
https://www.bitkub.com/blog/coin-token-70040ac557d5
https://tips.thaiware.com/1756.html
https://zipmex.com/th/learn/difference-between-coin-token/
https://bit.ly/33KBkqh
https://bit.ly/3h8qiyf
https://bit.ly/3JNF4Xh
https://zipmex.com/th/learn/what-is-cryptocurrency/
https://bit.ly/3BIM70K
https://www.finnomena.com/bitkub/7-maincat-crypto/
https://thunhoon.com/article/227418
https://www.nia.or.th/Crypto
https://bit.ly/35oN3uQ
https://news.trueid.net/detail/kgXYKEn3pe9l
https://www.moneyguru.co.th/lifestyle/articles/รวมคำศัพท์คริปโต/
https://www.gotradehere.com/2021/09/13/10-คำศัพท์ที่นักเทรดคริป/
https://สรรหา.com/รวม-26-คำศัพท์ที่สายคริปโตต้องรู้
https://ironducktv.com/cryptocurrency/
https://www.finnomena.com/z-admin/cryptocurrency-tax/
https://bit.ly/3v82iDv
https://bit.ly/3HdR2b5
https://www.dailynews.co.th/news/733105/
https://www.itax.in.th/media/คู่มือ-ภาษีคริปโท/
https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/tax-cryptocurrency
https://bit.ly/3LVpL0M