เผลอแป๊บเดียวก็ใกล้จะสิ้นปีแล้ว หน้าที่ของคนไทยที่มีรายได้ทุกคนคือการเตรียมตัวยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เอาเป็นว่ามาเริ่มต้นวางแผนภาษีกันตั้งแต่เนิ่นๆ เลยดีกว่า จะได้มีเวลาวางแผนและจัดการได้อย่างรัดกุม ไม่ตกหล่นผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะ
การวางแผนภาษีจะช่วยให้มีเวลาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษี ถ้าหากวางแผนได้อย่างรัดกุมตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ได้รับผลประโยชน์คุ้มค่า มีเวลาศึกษาหาข้อมูลและตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีมากขึ้น ไม่ต้องรีบลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายของปีที่อาจทำให้เสียโอกาสในการลงทุนที่เหมาะสม รวมถึงในแต่ละปีจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหลักเกณฑ์ใหม่ๆ จึงควรหมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อให้การวางแผนภาษีถูกต้องและมีประสิทธิภาพที่สุด
สำหรับคนไทยที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) และมากกว่า 220,000 บาทต่อปี (กรณีสมรส) มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมายทุกปี แต่เงินที่จะนำมาใช้ในการคำนวณภาษี จะเป็นเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วนำไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันได โดยมีวิธีคำนวณภาษีขั้นพื้นฐานแบบง่ายๆ ดังนี้
1. สูตรคำนวณการหาเงินได้สุทธิ
รายได้ (ต่อปี) - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
2. สูตรคำนวณเงินภาษีที่ต้องจ่ายสุทธิ
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี (ตามขั้นบันได) = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
1. สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้
- ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี โดยสามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้
- ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปีขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ สามารถลดหย่อนภาษีได้ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- กรณีมีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
- กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน
- กรณีมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
- ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดา ทั้งของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน กล่าวคือสามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้ ต้องมีการระบุลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการเลี้ยงดู (ลย.03) ว่าบุตรคนใดจะเป็นฝ่ายใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา
- ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ
2. สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทประกัน การออม และการลงทุน
- เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 7,200 บาท (จากปกติ 9,000 บาท) เนื่องจากปี พ.ศ. 2565 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม (จำนวนเงินประกันสังคมที่ลดหย่อนได้สูงสุด อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้หากมีประกาศปรับลดส่งเงินสมทบ)
- เบี้ยประกันชีวิต และประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีคู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนค่าเบี้ยประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิต คือ ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุ ที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิต และประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF: Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF: Super Saving Funds) สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับลดหย่อนภาษี 5 ปี
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
- เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งนี้ค่าลดหย่อนภาษีที่ได้รับสิทธิ เมื่อรวมกับกองทุน RMF กองทุน SSF กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท
3. สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
4. สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทอสังหาริมทรัพย์
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
5. สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
- โครงการช้อปดีมีคืน 2565 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 - 15 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่จ่ายจริง โดยสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP สินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มี 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น) โดยจะต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนดังนี้
- หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
- รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
- เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี
พอจะรู้ข้อมูลเบื้องต้นของการวางแผนภาษีอย่างถูกต้องแล้ว ผู้มีรายได้ที่จะต้องยื่นภาษีก็อย่าลืมนำไปปรับใช้กันตั้งแต่เนิ่นๆ นะ จะได้ไม่ต้องมานั่งปวดหัวตอนปลายปี จัดการภาษีของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงได้รับผลประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีตามกฎหมายได้อย่างคุ้มค่าและครบถ้วน
ขอบคุณที่มาจาก: https://bit.ly/3Agys1G, https://bit.ly/3pe8Axb, https://bit.ly/3Qmmzgq, https://bit.ly/3dfGmiM