กลับมาอีกครั้งกับมาตรการ
ช้อปดีมีคืน 2566 สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า บริการ และการเติมน้ำมัน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 66 - 15 ก.พ. 66 มาลดหย่อนภาษี 2566 ที่จะต้องยื่นภาษีในปี 2567 ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง มาเช็กกันเลย
ใครสามารถใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนได้บ้าง
ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษี ที่ต้องการนำค่าใช้จ่ายจากมาตรการช้อปดีมีคืนไปลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2566 ในช่วงที่มีการให้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2567 โดยสามารถใช้สิทธิ์ได้เลย ไม่ต้องลงทะเบียนสมัครช้อปดีมีคืน
วงเงินลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืน 2566
สามารถลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โดยแบ่งสิทธิลดหย่อนภาษีตามค่าซื้อสินค้าและบริการเป็น 2 ส่วน รายละเอียดดังนี้
1. ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท
จะต้องที่มีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ โดยเป็นแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice, e-Receipt & e-Tax Invoice, e-Tax Invoice by Email ของกรมสรรพากร
2. ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ จำนวนไม่เกิน 10,000 บาท
จะต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice, e-Receipt & e-Tax Invoice, e-Tax Invoice by Email ของกรมสรรพากรเท่านั้น
ซึ่งกรณีที่ซื้อสินค้า 40,000 บาท ไม่ได้แปลว่าจะนำมาลดหย่อนภาษีได้ 40,000 บาท ขึ้นอยู่ที่ฐานภาษีของแต่ละบุคคล โดยคำนวณจากเงินได้สุทธิ
ระยะเวลาใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน 2566
ซื้อสินค้าหรือบริการตามที่กำหนด ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2566 - 15 ก.พ. 2566 เท่านั้น
กรณีชำระค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 66 - 15 ก.พ. 66 แต่ได้ใช้บริการหลังวันที่ 15 ก.พ. 66 จะไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากต้องชำระ และใช้บริการในช่วงเวลาที่กำหนดเท่านั้น
สินค้าและบริการที่ร่วมมาตรการช้อปดีมีคืน 2566
1. สินค้า-บริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
2. หนังสือ รวมถึงหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
3. สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน
4. ค่าใช้จ่ายจากน้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์
หากเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ โดยจะต้องซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากร้านที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้ได้เท่านั้น ยกเว้นการซื้อหนังสือ รวมถึงหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book), สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่เป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว สามารถใช้ใบเสร็จรับเงินได้ โดยระบุชื่อ-นามสกุลให้ชัดเจน
สินค้าและบริการที่ไม่ร่วมมาตรการช้อปดีมีคืน 2566
1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์
2. ค่าซื้อยาสูบ
3. ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
4. ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
5. ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
6. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่ จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
7. ค่าที่พักในโรงแรม ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
8. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
9. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการ และผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด (1 ม.ค. 2566 - 15 ก.พ. 2566) เช่น ค่าสมาชิกต่างๆ
10. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย