เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนคุณนึกถึงอะไรกันบ้าง?
…สัมผัสอากาศเย็นสบาย คลายร้อน
…ได้ฟังเสียงฝนฟิน ๆ ก่อนนอน
…หรืออาการคัดจมูกและภูมิแพ้ในทุก ๆ เช้า
นอกจากอากาศเย็น ๆ ในฤดูฝนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มักสร้างความรำคาญใจเราในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย คงหนีไม่พ้นโรคที่มากับฝนและอาการเจ็บป่วย เช่น ไอ จาม คัดจมูก และภูมิแพ้ แถมปริมาณความชื้นในอากาศก็เพิ่มขึ้น ทำให้เชื้อไวรัสและแบคทีเรียต่าง ๆ แพร่กระจาย และเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเราได้โดยตรง ช่วงนี้เลยเป็นช่วงป่วยง่ายกว่าช่วงอื่นนั่นเอง
แต่นอกจากอาการไอจามคัดจมูกที่เราพูดถึงแล้ว โรคที่มากับหน้าฝนยังมีอีกมากมายและอาจเป็นอันตรายได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งต้นเหตุของแต่ละโรคก็แตกต่างกันไป ในบทความนี้เราเลยขอยกตัวอย่าง 4 กลุ่มโรคที่มากับหน้าฝน เพื่อเป็นข้อมูลให้เราทุกคนได้ระวังตัวกันมากขึ้น
ระวัง! 4 กลุ่มโรคที่มากับหน้าฝน ภัยเงียบที่มองข้ามไม่ได้
1. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
• ไข้หวัดใหญ่
สาเหตุ : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ จากการสัมผัสละอองฝอยจากการไอจามของผู้ป่วย
สังเกตอาการ : มีอาการไข้สูง ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว เบื่ออาหาร คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง อีกทั้งในเด็กอาจมีอาการคลื่นไส้และท้องร่วงร่วมด้วย
• ปอดบวม/ปอดอักเสบ
สาเหตุ : ภาวะติดเชื้อในปอดจากการหายใจเอาเชื้อเข้าไป หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย รวมทั้งการสำลักเศษอาหารเข้าสู่ปอด และสูดฝุ่นควันเข้าไปในร่างกายในปริมาณมากจนปอดเกิดการติดเชื้อ
สังเกตอาการ : ทำให้มีอาการ ไอ มีเสมหะ หายใจหอบถี่ เจ็บหน้าอก มีไข้ หนาวสั่น ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการที่แตกต่างกันได้
2. กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ
• ไข้เลือดออก
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีจากยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค แต่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน
สังเกตอาการ : ผู้ป่วยจะมีอาการไข้คล้ายเป็นหวัดแต่รุนแรงกว่า คือ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตา ตาแดง มีไข้สูงนาน 2 - 7 วัน และอาจมีไข้สูงได้ถึง 40 องศา หากปล่อยไว้เกิดอาการชักได้
3. กลุ่มโรคติดต่อในทางเดินอาหาร จากอาหารและน้ำดื่ม
• อาหารเป็นพิษ/ท้องร่วง
สาเหตุ : เกิดจากทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
สังเกตอาการ : มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย ถ่ายเหลวเกินวันละ 3 ครั้ง รวมทั้งอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ได้เช่นกัน
4. กลุ่มโรคติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
• โรคฉี่หนู
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู หมู สุนัข เป็นต้น ที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล รอยขีดข่วน ผิวหนังเปื่อยจากการแช่น้ำ หรือผ่านเยื่อบุตา จมูกและปาก
สังเกตอาการ : ผู้ป่วยจะแสดงอาการแตกต่างกัน เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรง มีผื่น ตาแดง ตาเหลือง ตัวเหลือง คลื่นไส้ เป็นต้น
• โรคมือเท้าปาก
สาเหตุ : เป็นโรคที่เกิดในกลุ่มเด็กเล็กมากที่สุด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่อาจปนเปื้อนมากับของเล่น และละอองฝอยจากการไอจาม
สังเกตอาการ : เด็กที่ได้รับเชื้อจะมีอาการ มีไข้ อ่อนเพลีย มีตุ่มแผลในปาก และมีตุ่มพองเล็ก ๆ บริเวณมือและเท้า
นี่เป็นเพียง 6 โรคฮิตจาก 4 กลุ่มโรคที่มากับหน้าฝนที่เรายกตัวอย่างกันมาเท่านั้น เพราะในช่วงที่มีความชื้น ไวรัสและแบคทีเรียแพร่กระจายได้ง่ายแบบนี้ ก็เพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น โรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคอื่น ๆ จากพาหะอีกมากมายที่เราเองต้องระวัง
รู้แบบนี้แล้ว...อย่าลืม “ฝนตกดูแลสุขภาพกันด้วยนะ” ว่าแต่แล้วเราจะดูแลสุขภาพให้รอดจากภัยร้ายช่วงหน้าฝนนี้ได้ยังไงบ้าง?
วันนี้เราเลยขอแชร์ “วิธีดูแลสุขภาพหน้าฝน” สร้างภูมิต้านทาน เสริมความแข็งแรงให้ร่างกาย กับทริกที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แล้วมาเพิ่มเกราะป้องกันโรคที่มากับหน้าฝนด้วยกันเถอะ
เช็กลิสต์ 10 วิธีดูแลสุขภาพหน้าฝน เสริมภูมิคุ้มกัน ไม่ป่วยง่าย
1. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
ดูแลสุขภาพหน้าฝนด้วยการ
รักษาอุณหภูมิร่างกายให้ปกติ ไม่รู้สึกหนาวเย็นเกินไป เพราะอากาศเย็นอาจยิ่งทำให้ภูมิต้านทานลดลงได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยได้ง่าย อีกทั้งอย่าลืมหมั่นระบายอากาศในห้องให้อากาศถ่ายเทไม่อับชื้นด้วยนะ
2. พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมง
ช่วงเวลานอนหลับพักผ่อนถือเป็นช่วงสำคัญให้ร่างกายได้ฟื้นฟูสุขภาพจากภายใน เพราะเป็นช่วงที่โกรทฮอร์โมนจะหลั่งออกมา เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หากเรานอนดึกหรือนอนน้อยเกินไป ร่างกายจะอ่อนเพลียไม่มีชีวิตชีวาอีกทั้งการนอนไม่เพียงพอยังทำให้กระบวนการขับสารพิษจากร่างกาย
มีประสิทธิภาพต่ำลงอีกด้วย
3. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร
หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าการดื่มน้ำให้เพียงพอนั้นสำคัญต่อร่างกายไม่แพ้การทานอาหารเลย ทั้งช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต รักษาอุณหภูมิร่างกาย ป้องกันภาวะขาดน้ำ แนะนำว่าในแต่ละวันควรดื่มน้ำอย่างน้อย 1.5 ลิตร และควรเป็นน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่น เพื่อรักษาสมดุลและสร้างภูมิคุ้มกันให้ผิวหนังเพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย อีกทั้งยังไม่เป็นหวัดง่ายอีกด้วยนะ
4. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
การดูแลสุขภาพหน้าฝนข้อนี้ก็สำคัญไม่แพ้ข้ออื่น ๆ เลยเพราะการออกกำลังกายถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันและกล้ามเนื้อ ให้ร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากใครที่ไม่ค่อยเอนจอยกับการออกกำลังกายก็ไม่จำเป็นต้องฟิตทุกวันก็ได้ แต่ควรเล่นเป็นประจำ 3 - 4 วัน/สัปดาห์ ก็ถือว่าเพียงพอต่อร่างกายแล้ว
5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปรุงสุกใหม่เสมอ
การทานอาหารที่มีประโยชน์ที่ไม่ว่าจะซีซันไหนก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรละเลย โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ ยิ่งในช่วงหน้าฝนแบบนี้ควรดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ด้วยการควรหลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัดหรืออาหารฤทธิ์เย็น แล้วหันมาทานอาหารที่ให้ฤทธิ์ร้อนแทน เช่น ขิง ข่า กระเทียม พริกไทย ตะไคร้ เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้ช่วยยับยั้งการเกิดโรคได้ ที่สำคัญควรทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร
6. หลีกเลี่ยงการตากฝนหรือลุยน้ำท่วมขังโดยไม่จำเป็น
อย่างที่บอกไปว่าโรคบางประเภทนั้นเกิดจากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำขัง เพราะพื้นที่ชื้นและน้ำท่วมขังถือเป็นจุดรวมตัวของปรสิตและเชื้อโรคนานาชนิด ที่หากผิวหนังได้สัมผัสแล้วอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย แต่หากจำเป็นต้องผ่านบริเวณน้ำท่วมขัง แนะนำว่าควรสวมใส่รองเท้าบูตสูง เพื่อป้องกันการสัมผัสน้ำขังจะดีที่สุด และควรทำความสะอาดเท้าหรืออาบน้ำทันทีเมื่อถึงบ้าง
7. หลีกเลี่ยงการโดนฝน และสระผมทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน
เมื่อร่างกายเปียกชื้น เชื้อราก็จะสะสมบนเสื้อผ้าและร่างกายของเรามากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการไม่สบายตัว และนำไปสู่โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และโรคผิวหนังได้ ดังนั้น หลังจากเปียกฝนเราควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกชื้นออกทันที เช็ดผมให้แห้ง เพื่อให้ร่างกายเกิดความอบอุ่นขึ้น รวมทั้งควรสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี พกร่มหรือเสื้อกันฝนติดตัวทุกครั้งที่ออกจากบ้านกันด้วยนะ
8. ล้างมือบ่อย ๆ ลดโอกาสติดเชื้อ
เพราะแต่ละกิจกรรมในแต่ละวัน ทำให้เรามีโอกาสได้สัมผัสกับเชื้อไวรัสและแบคทีเรียอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ทั้งโรคที่มากับฝนและโรคอื่น ๆ เพราะเราอาจเผลอใช้มือสัมผัสใบหน้าหรือทานอาหารโดยไม่รู้ตัวได้ ดังนั้นการหมั่นล้างมือบ่อย ๆ จึงถือเป็นอีกหนึ่งวิธีดูแลสุขภาพหน้าฝนที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ดีเลยทีเดียว รวมทั้งการใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ก็ถือเป็นไอเทมให้เราล้างมือได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นอีกด้วย
9. สวมหน้ากากอนามัย เปลี่ยนทันทีเมื่อหน้ากากชื้น
การสวมหน้ากากอนามัยถือเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในละอองฝอยและอากาศได้ดี แต่ที่สำคัญหากเราใช้แมสก์เปียกหรืออับชื้นก็ส่งผลเสียได้เช่นกัน จากต้องการใช้เพื่อป้องกันก็จะกลายเป็นพื้นที่สะสมแบคทีเรียและไวรัสต่าง ๆ แถมยิ่งอันตรายกว่าการไม่ใส่แมสก์อีกต่างหาก ดังนั้น เมื่อแมสก์เปียกหรือชื้นปุ๊บ ควรรีบทิ้งแล้วใช้อันใหม่ทันทีจะปลอดภัยที่สุด
10. หลีกเลี่ยงพื้นที่อับชื้น ระวังไม่ให้ยุงกัด
เพราะในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่เกิดโรคระบาดจากยุงที่เป็นพาหะมากที่สุด และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้น เราควรหลีกเลี่ยงพื้นที่อับหรือน้ำขังที่มียุงและสัตว์พาหะอื่น ๆ อาศัยอยู่ รวมทั้งป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น การทาโลชั่นกันยุง ปิดหน้าต่าง ใช้อุปกรณ์ไล่ยุง เป็นต้น และอย่าลืมตรวจสอบบริเวณน้ำขังรอบบ้านเพราะอาจเป็นที่ไข่และฟักตัวของยุงได้
และนี่ก็คือ 10 วิธีดูแลสุขภาพหน้าฝน สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ลดความเสี่ยงจากโรคที่มากับฝนได้ แถมยังเป็นวิธีที่ช่วยให้เรารักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรงอย่างยั่งยืน จะฤดูไหนก็ไกลโรคแน่นอน
แต่อีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เราอุ่นใจมากยิ่งขึ้นนั่นก็คือ “การทำประกันสุขภาพ” ตัวช่วยให้เราไร้กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย มั่นใจได้ทุกการใช้ชีวิต อีกทั้งยังสามารถจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพได้ง่าย ๆ สบายใจ คุ้มยิ่งกว่า ด้วย “
บัตรเครดิตกรุงศรี” พร้อมรับสิทธิประโยชน์จากบัตรมากมาย เช่น แบ่งชำระเบี้ยประกัน 0% พร้อมรับเครดิตเงินคืน ตามเงื่อนไขที่กำหนด อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คลิก มีผู้ช่วยคอยดูแลทุกการเจ็บป่วยแล้ว ฝนตกแบบนี้ก็อย่าลืมดูแลตัวเองให้ไกลโรคกันด้วยนะ :)
แหล่งอ้างอิงข้อมูล